ช่วงฤดูฝนหลายคนอาจคิดว่าเป็นช่วงที่ต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดเพราะได้รับปริมาณน้ำมากกว่าปกติ แม้ว่าน้ำจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของพืชก็จริง แต่ในทางกลับกันหากได้รับมากเกินไปประกอบกับความชื้นในอากาศที่มีสูงก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา มาดูกันว่าหน้าฝนนี้พบปัญหาอะไรบ่อยที่สุดในสวนของเรา
การตัดแต่งกิ่ง : ปัญหาของผู้ที่มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บริเวณอาคาร คือ ปัญหาโค่นล้มของกิ่งไม้ การตัดแต่งกิ่งเพื่อรักษาพืชให้เจริญเติบโตและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นการกำจัดกิ่งที่เสียหายซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของโรคพืช และกระตุ้นการเติบโตของใบ ทำให้แตกใบใหม่ ออกดอกและติดผล รวมถึงควบคุมความสูงของลำต้นให้เก็บผลผลิตได้ / เทคนิคการตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ ให้ผูกเชือกไว้ที่กิ่งกับลำต้นเพื่อพยุงไม่ให้เกิดการโค่นล้ม จากนั้นใช้เลื่อยตัดจากด้านล่างขึ้นบนเป็นรอยบากลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความหนาของกิ่ง แล้วเลื่อยด้านบนให้ห่างจากรอยเดิมประมาณ 10 เซนติเมตร การตัดกิ่งทุกครั้งควรทาปูนแดงบริเวณแผลที่ตัดเพื่อลดการเกิดเชื้อรา สำหรับกิ่งที่ควรตัดให้สังเกตุกิ่งที่มีลักษณะคดงอ ง่ามกิ่ง หรือกิ่งที่งอกแยกจากส่วนของกิ่งใหญ่ตอนล่าง


ไม้ค้ำยัน : หน้าฝนแล้วอย่าลืมเปลี่ยนค้ำยันต้นไม้! ไม่ว่าจะเป็นแรงลมหรือแรงฝนก็สามารถโค่นล้มมาได้ ซึ่งสำคัญมากสำหรับไม้ขุดล้อม เพราะรากยังไม่แข็งแรงพอที่จะค้ำลำต้นได้ ในกรณีที่ค้ำยันเป็นไม้ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ยูคา โดยจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นไม้จะเริ่มผุ ดังนั้น หากมีต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกใกล้กับอาคารควรจะเปลี่ยนไม้ค้ำเพื่อลดความเสี่ยง หรือเปลี่ยนวัสดุค้ำยันเพิ่มความแข็งแรงมากขึ้น อย่างเช่น ไม้ค้ำยันเหล็ก ไม้ค้ำแบบสลิงยึดตุ้ม เป็นต้น ทางที่ดีเราควรเปลี่ยนไม้ค้ำยันทุกปีก่อนเข้าหน้าฝนเพื่อเป็นการรีเชคสภาพต้นไม้และไม้ค้ำยัน


ฤดูของการเติบโตของวัชพืช : การเติบโตของวัชพืชและศัตรูพืช จะคอยแย่งทั้งแสงแดดและอาหารจนกระทั่งต้นไม้ออกอาการเหี่ยว ไม่แข็งแรง และไม่เติบโต อีกทั้งเป็นแหล่งสะสมเชื้อราและโรคพืชได้ หากเจอวัชพืชเมื่อไหร่ให้รีบถอนทิ้งให้หมดทั้งรากทั้งโคนเพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชกลับมาเติบโตได้อีก แนะนำให้กำจัดทิ้งตั้งแต่ยังมีน้อยไม่ปล่อยให้วัชพืชลามจนทั่วสวน หรือใช้วิธีการพ่นยาซึ่งสามารถป้องกันโรคพืชได้เช่นกัน แต่ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ช่วงหน้าฝนวัชพืชขึ้นเยอะมากเป็นพิเศษ การใช้พลาสติกคลุมหน้าดินเป็นอีกวิธีในการควบคุมวัชพืชให้น้อยลง ข้อดีคือจะช่วยลดแรงกระแทกจากเม็ดฝน ช่วยรักษาความชุ่มชื้นหน้าดินทำให้เก็บน้ำได้นานขึ้น ช่วยให้พืชได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ ในขณะที่วัชพืชก็จะไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง จึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ช่วยชะลอการเติบโตของวัชพืชจนตาย


ฤดูฝนเป็นฤดูของเห็ด : เหมาะแก่การเติบโตทั้งในที่ธรรมชาติและในที่เราเพาะปลูก ยิ่งมีความชื้นสูงประมาณ 70-90% จะทำให้เห็ดขึ้นได้ดี ดังนั้นสิ่งที่ควรเข้าใจ คือ การรดน้ำเห็ดนั้นเป็นการให้น้ำเพื่อให้เห็ดได้ความชื้น ไม่ใช่เป็นการรดน้ำเพื่อให้เห็ดเจริญเติบโตโดยตรง เพราะเห็ดไม่ได้ต้องการน้ำแต่ต้องการความชื้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน ถ้าเป็นฤดูฝนอากาศมีความชื้นสูง ก็อาจจะไม่ต้องรดน้ำเห็ดเลย การที่เห็ดเติบโตดีนั้นบางชนิดก็ไม่ได้เฟรนด์ลี่เสมอไป อาจเป็นเห็ดที่มีพิษได้ หรือบางชนิดก็เป็นแหล่งเพาะเชื้อราที่นำไปสู่โรคพืชได้เช่นกัน


โรคพืชที่มากับหน้าฝน : เนื่องจากมีความชื้นมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดรากเน่า ฟอร์มเสียหาย และตายได้ง่าย วิธีการป้องกันพืชให้เสียหายน้อยที่สุด ควรมีการจัดทำทางระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีอากาศถ่ายเทมากขึ้น เพื่อลดการเกิดน้ำท่วมขัง และลดความชื้นในรากที่อาจสะสมจนเกิดเป็นเชื้อราได้ แต่หากพืชเกิดเชื้อราแล้ว เราสามารถป้องกันเบื้องต้นได้สำรวจฟอร์มของพืชสม่ำเสมอ เช่น ใบ กิ่ง ผล และเมื่อพบว่าพืชเป็นโรคแล้ว อาทิ โรคใบจุด โรคราแป้ง ฯลฯ ให้ทำโดยการตัดแต่งกิ่งและถอนทำลายผลที่ติดเชื้อรานอกแปลงปลูก หรือสามารถใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดโรคพืช เช่น ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาซึ่งเป็นจุลินทรีย์กำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา หรือใช้เชื้อราแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส กำจัดโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และต้องใช้ในอัตราตามคำแนะนำอย่างเหมาะสม สภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและมีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคพืชได้เป็นอย่างดี โดยจะมี 5 โรคพืชที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝนนี้
1.โรคราน้ำค้างหรือโรคใบลาย อาการหลัก ๆ จะมีลักษณะมีจุดสีเหลืองกระจายทั่วบนใบ ส่วนด้านล่างใบจะมีราสีขาวและสีเทาเป็นขุย หากใบมีอาการขั้นรุนแรงจะมีลักษณะใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น
2.โรคเน่าคอดิน เกิดจากเชื้อราในดินที่อาจติดมากับเมล็ดหรือดินปลูก มักพบในต้นกล้าโดยมีอาการต้นกล้าไม่แตกใบอ่อน ไม่งอกหรือหยุดการเติบโต สังเกตได้จากโคนต้นที่ติดกับผิวดิน ต้นมันจะล้มลงไม่ตั้งขึ้น
3.โรคใบจุด เริ่มต้นจะมีจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลดำกระจายทั่วใบทำให้ใบเหลือง ยิ่งปล่อยไว้นานจากจุดเล็กจะมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันส่งผลให้ต้นไม้อ่อนแอและใบไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้
4.โรคราสนิมขาว จะมีลักษณะจุดสีเหลืองซีดที่ด้านบนของใบ ส่วนใต้ใบจะมีตุ่มนูนขนาดเล็กสีขาวและจะใหญ่ขึ้นหากมีหลายตุ่มขยายมาชนกันจะเห็นเป็นปื้นสีขาวขนาดใหญ่โป่งพองออกจากใบ
5.โรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อราที่อยู่ในดินโดยเข้าทำลายระบบรากพืช ทำให้ไม่สามารถดูดซึมน้ำและธาตุอาหารได้อย่างเพียงพอ ทำให้ใบเหี่ยวเฉาและตาย อีกทั้งยังสามารถกระจายผ่านทางน้ำและดินที่ปนเปื้อนเชื้อราได้

